ผู้เขียนได้ศึกษาเรื่องการจัดการเชิงกลยุทธ์จากผลงานของท่าน ผอ.พงศ์พันธุ์ ไชยวัณณ์ อดีตผอ.สพป. ชม. 4 ที่ได้จัดทำเอกสารเกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้เชิงกลยุทธ์ เห็นว่ามีประโยชน์จึงได้นำมาขยายผลให้ผู้อ่านที่ชื่นชอบการจัดการเรียนรู้เชิงกลยุทธ์ได้ศึกษาเพิ่มเติม โดยการจัดการเชิงกลยุทธ์ มีผู้ให้ความหมายไว้ดังนี้

- Wheelen และ Hunger (2006) ให้ความหมายของการจัดการเชิงกลยุทธ์ว่า หมายถึง การตัดสินใจในการปฏิบัติการเพื่อให้องค์การประสบผลสำเร็จในการดำเนินการในระยะยาว
- Pearce และ Robinson (2009) ให้ความหมายการจัดการเชิงกลยุทธ์ว่า คือชุดการตัดสินใจของการกระทำที่ส่งผลให้เกิดการทำแผนและการปฏิบัติตามแผนเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
- วรางคณา ผลประเสริฐ (2556:6) ได้ให้ความหมายไว้ว่าการจัดการเชิงกลยุทธ์เป็นการบริหารอย่างมีระบบที่ต้องอาศัยวิสัยทัศน์ผู้ของผู้นำและอาศัยการวางแผนอย่างมีขั้นตอน โดยผ่านการตัดสินใจและการประเมินแล้วว่าเหมาะสมกับองค์การและสามารถนำไปใช้ปฏิบัติได้จริง อันจะนำไปสู่ความสำเร็จขององค์การ
สรุป การจัดการเชิงกลยุทธ์เป็นการจัดการอย่างเป็นระบบจากวิสัยทัศน์ที่ผ่านกระบวนการวิเคราะห์และประเมินอย่างเป็นระบบเพื่อการวางแผนดำเนินการให้เหมาะสมกับสถานการณ์สู่ความสำเร็จ
ความสำคัญของการจัดการเชิงกลยุทธ์
การจัดการเชิงกลยุทธ์ เป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้นักบริหารกำหนดทิศทางขององศ์กร โดยการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกองค์กร เพื่อกำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับองค์กร เพื่อที่จะนำกลยุทธ์เหล่านั้นไปประยุกต์ปฏิบัติและควบคุมประเมินผลการดำเนินงานขององค์กรได้ กลยุทธ์การบริหารที่ทรงคุณภาพนี้ จะต้องดีพร้อมสมบูรณ์ตามความหมายทั้ง 2 อย่างคือ การมีประสิทธิผล(Effectiveness) ที่สามารถบรรลุผลสำเร็จในเป้าหมายนั้นๆได้ และมีประสิทธิภาพ (Efficiency) ที่สำเร็จในเป้าหมายเหล่านั้นโดยมีต้นทุนค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุดด้วย
วรางคณา ผลประเสริฐ (2556:9) ได้จำแนกความสำคัญของการจดการเชิงกลยุทธ์ไว้ 6 ประการ ดังนี้
- ช่วยให้องค์การมีกรอบและทิศทางที่ชัดเจน
- ช่วยให้ผู้บริหารคิดอย่างเป็นระบบ
- ช่วยสร้างความพร้อมให้แก่องค์กร
- ช่วยสร้างประสิทธิภาพในการแข่งขั้น
- ช่วยให้การทำงานเกิดความสอดคล้องในการปฏิบัติหน้าที่
- ช่วยให้องค์การที่มีมุมมองที่ครอบคลุม
ลักษณะสำคัญของการจัดการเชิงกลยุทธ์
วรางคณา ผลประเสริฐ (2556:11-13) ได้จำแนกลักษณะสำคัญของการจัดการเชิงกลยุทธ์ไว้ดังนี้
- เป็นการบริหารที่มุ่งถึงอนาคต (Future-Oriented)โดยการสร้าง วิสัยทัศน์ พันธะกิจ และเป้าประสงค์ขององค์การ
- เป็นการมุ่งเน้นการจัดการต่อการเปลี่ยนแปลงขององค์กร (Change-Oriented) ทั้งระบบ ซึ่ง ครอบคลุมโครงสร้าง เทคโนโลยี บุคลากรและทรัพยากรต่างๆ
- เป็นการบริหารองค์การแบบองค์รวม (Holistic Approach) มุ่งเน้นภาพรวมทั้งหมดขององค์การมากกว่าการแยกส่วนการจัดการของทุกภาคส่วน มุ่งสู่ทิศทางและเป้าหมายเดียวกัน
- การบริหารองค์การที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ ในการดำเนินการ (Result based Focus) ที่มีการระบุตัวชี้วัดที่ชัดเจน ตลอดจนเป้าหมายและวัตถุประสงค์
- การบริหารที่ให้ความสำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสียกับองค์การทุกภาคส่วน (Stakeholder-Oriented)
- การเป็นองค์การที่มุ่งเน้นการวางแผนระยะยาว(Long-Range Planning)
กระบวนการจัดการเชิงกลยุทธ์
ประกอบด้วยขั้นตอนพื้นฐานดังต่อไปนี้
- การวิเคราะห์กลยุทธ์ (Strategic Analysis)
- การกำหนดกลยุทธ์ (Strategic Formulation)
- การนำกลยุทธ์ไปสู่การปฏิบัติ (Strategic Implementation)
- การประควบคุมกลยุทธ์ (Strategic Evaluation and Control)